เทคนิค และองค์ประกอบการเขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งานในปี 2024

แชร์ Share Facebook Share Line

การเขียนเรซูเม่ที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญในการสมัครงาน เพราะเป็นด่านแรกที่นายจ้างจะได้เห็นและประเมินความเหมาะสมของผู้สมัคร โดยเฉพาะในปี 2024 ที่การสมัครงานผ่านช่องทางออนไลน์มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การเขียนเรซูเม่ให้ได้งานต้องใช้เทคนิคและความละเอียดอ่อนในหลายด้าน ดังนี้

1. ข้อมูลส่วนตัวและช่องทางการติดต่อ

ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล ควรอยู่ด้านบนสุดของเรซูเม่ และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน โดยควรมีข้อมูลดังนี้:

  • ชื่อ-นามสกุล
  • อายุ (หากจำเป็น)
  • เบอร์โทรศัพท์
  • อีเมล
  • URL ของ LinkedIn (ถ้ามี)
  • ที่อยู่โดยสังเขป เช่น เขต/อำเภอ และจังหวัด
  • รูปภาพหน้าตรง สุภาพ และเป็นทางการ (ถ้าจำเป็น)

2. คำแนะนำสั้น ๆ ที่บ่งบอกถึงตัวเอง

การเริ่มต้นเรซูเม่ด้วยคำแนะนำสั้น ๆ หรือ Professional Summary จะช่วยให้ผู้ว่าจ้างได้รู้จักตัวคุณมากขึ้น ควรเน้นจุดเด่น ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง และเป้าหมายในการทำงาน

3. ประวัติการศึกษา

ในส่วนของประวัติการศึกษา ให้ใส่ชื่อสถาบันการศึกษา คณะ และภาควิชาที่จบมา รวมถึงปีที่เข้าเรียนและปีที่จบการศึกษา เช่น:

AIGEN University ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (วศ.บ.) สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มิถุนายน 2553 – กุมภาพันธ์ 2557

4. ประสบการณ์การทำงาน

ประวัติการทำงานของผู้สมัครจะเป็นตัวชี้วัดประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา เนื้อหาในส่วนนี้ควรประกอบด้วยชื่อบริษัท ตำแหน่งงาน ระยะเวลาการทำงาน ตามด้วยหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงความสำเร็จจากงานหรือโครงการนั้น ๆ โดยเขียนในลักษณะแยกเป็นหัวข้อย่อย เช่น:

บริษัท ABCD Software จำกัด วิศวกรโซลูชัน | พฤษภาคม 2556 – พฤษภาคม 2561

  • รับผิดชอบด้านประสิทธิภาพของระบบที่ติดตั้งและปัญหาทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้น
  • ให้บริการติดตามผลหลังการติดตั้ง
  • สนับสนุนทีมขายในการตอบคำถามทางเทคนิคทั้งหมด

5. ทักษะ

เครื่องมือที่ใช้งาน และใบรับรอง ผู้สมัครควรระบุทักษะที่ตนเองมีลงในเรซูเม่ ไม่ว่าจะเป็นทักษะเฉพาะทาง (Hard Skills) หรือทักษะทั่วไป (Soft Skills) รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถใช้ในการทำงานได้และมีความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ทักษะและความรู้ที่เขียนลงไปควรเกี่ยวข้องกับเนื้องานที่สนใจและเป็นความจริง เช่น:

ทักษะทางเทคนิค: การเชื่อม ระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ความปลอดภัยสมัยใหม่ ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบความปลอดภัยของ OSHA ใบรับรอง OSHA เครื่องมือเชื่อม SMAW ทักษะเพิ่มเติม: การทำงานเป็นทีม ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ความยืดหยุ่น การจัดระเบียบ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

6. แฟ้มสะสมผลงาน

หรือ Portfolio ในกรณีที่ผู้สมัครเคยทำโครงการหรือมีผลงานที่อยากแสดงให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลรับทราบ สามารถรวมผลงานทั้งหมด รวมถึงใบรับรองหรือสำเนาผลคะแนนสอบวัดระดับต่าง ๆ ที่มีอยู่ไว้อีกไฟล์หนึ่งแล้วแนบมากับเรซูเม่ได้

7. การตรวจสอบความถูกต้องของเรซูเม่

การตรวจสอบความถูกต้องขององค์ประกอบต่าง ๆ บนเรซูเม่ ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำและไวยากรณ์ต่าง ๆ ความถูกต้องทั้งหมดนี้ช่วยเสริมให้ผู้สมัครดูเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสในการได้รับการพิจารณาในตำแหน่งงานที่ต้องการ

8. คำสำคัญ (Keyword)

บริษัทจำนวนมากทั้งขนาดกลางและใหญ่ในปัจจุบันต่างใช้โปรแกรมที่ช่วยในการค้นหาและจัดการกับผู้สมัครงานผ่านทางออนไลน์ โดยโปรแกรมจะค้นหาผู้สมัครจาก "คำสำคัญ" เป็นหลัก ดังนั้นหากคำสำคัญที่ใช้นั้นผิดประเภทหรือไม่ชัดเจนก็ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะพลาดตำแหน่งงาน ผลการสำรวจพบว่ามีถึง 75% ของเรซูเม่ทั้งหมดที่ถูกละเลยเนื่องจากการใช้คำสำคัญผิดประเภท สิ่งสำคัญในการเลือกใช้คำสำคัญคือ ต้องเป็นคำที่สื่อสารได้ตรงประเด็น ชัดเจน และเลือกใช้ "คำศัพท์เฉพาะ" สำหรับงานบางประเภท

9. สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)

ในแวดวงการสมัครงานปัจจุบัน "สื่อสังคมออนไลน์" ถูกใช้เป็นแหล่งค้นหาผู้สมัครงานมากถึง 89% ของจำนวนบริษัททั้งหมด อีกทั้งบริษัทมากกว่าครึ่ง (55%) ยังใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อตรวจสอบประวัติและช่วยในการคัดเลือกผู้สมัคร สิ่งสำคัญที่ผู้สมัครควรให้ความสนใจในการนำเสนอบนสื่อสังคมออนไลน์คือ การใช้สื่อสังคมออนไลน์หลากหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง การติดตาม (Follow) บุคคลที่ทำงานในบริษัทที่ผู้สมัครชื่นชอบ หรือติดตามบุคคลที่ทำงานในตำแหน่งที่ผู้สมัครให้ความสนใจ และการใส่คำสำคัญบนโปรไฟล์เพื่อช่วยในการค้นหา (SEO)

10. รูปแบบในการนำเสนอ (Format)

สิ่งสำคัญที่ต้องให้ความเอาใจใส่ในการนำเสนอรูปแบบของเรซูเม่คือ รูปแบบของตัวอักษรที่ใช้ (Font) จะต้องเหมาะสมและสามารถเปิดอ่านได้เป็นมาตรฐาน เช่น ฟอนต์ Arial, Georgia และ Veranda นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอโดยใช้ตาราง (Table) และจุด (Bullet) ในการนำเสนอ เนื่องจากทั้ง 2 รูปแบบมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความผิดพลาดในการเปิดอ่านบนระบบหรืออุปกรณ์ที่แตกต่างกัน และที่ขาดไม่ได้คือ การจัดเก็บไฟล์ด้วยนามสกุล ".txt" เพื่อช่วยในการตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของรูปแบบบนเรซูเม่ก่อนการนำเสนอผ่านทางออนไลน์

11. สื่อที่ใช้ในการนำเสนอ (Media)

ในการนำเสนอเรซูเม่ทางออนไลน์ ผู้สมัครงานสามารถนำสื่อรูปแบบต่าง ๆ มาช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มจุดสนใจให้กับเรซูเม่ได้ตามความต้องการ เช่น คลิปวิดีโอเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวขนาดสั้น (ความยาวไม่เกิน 5 นาที) หรือการสร้าง QR Code เพื่อระบุข้อมูลส่วนตัว เช่น เว็บไซต์ บล็อก อีเมล และเบอร์โทรศัพท์ นอกจากนี้ การใส่ลิงก์เพื่อเชื่อมโยงถึงสื่อสังคมออนไลน์และ Portfolio ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับผู้สมัครเช่นกัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการเขียนเรซูเม่

  • เรซูเม่ที่ดีควรมีความยาวอยู่ที่ 1 หน้ากระดาษ A4 (หรือไม่ควรเกิน 2 หน้า)
  • เรซูเม่ที่ดีต้องเป็นไฟล์ PDF เพื่อความสะดวกในการเปิดไฟล์
  • เรซูเม่ที่ดีต้องมีรายละเอียดตามที่กล่าวไปครบถ้วน และจัดวางเนื้อหาอย่างเป็นระเบียบ
  • เรซูเม่ที่ดีไม่จำเป็นต้องมีสีสันฉูดฉาด ควรเป็นสีพื้น เรียบ และสบายตา
  • เรซูเม่ที่ดีควรมีส่วนเรียงความสรุปพอสังเขปเกี่ยวกับผู้สมัคร
  • รูปที่ใส่ในเรซูเม่ควรเป็นรูปถ่ายหน้าตรง สุภาพ และเป็นทางการ

ติดตามข่าวสาร

ติดตามเรา

Link to Facebook Link to Line